MEMBER
บทความ
- ความงามทั่วไป
- ดูแลผิวพรรณ
- ผิวหนัง
- ฝ้า-กระ
- ลดน้ำหนัก
- ศัลยกรรมความงาม
- สุขภาพ-งานวิจัย
- หมวดสิว
- เก็บมาอยากให้อ่านกัน
- เวชศาสตร์ความงาม
- เวชศาสตร์ชะลอวัย
- เส้นผม

Implanon ยาฝังคุมกำเนิดชนิดใหม่
การคุมกำเนิดมีมากมายหลายวิธี แต่การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด จะเป็นที่นิยมมากที่สุด เพราะพกพาสะดวก ราคาไม่แพง แต่ก็มีข้อเสีย คือ ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะลดลงเมื่อลืมกินยา หรือกินยาไม่ตรงเวลา นอกจากนี้ ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม หรือแพ้ คลื่นไส้อาเจียนได้ ดังนั้นนักวิจัยทางเภสัชศาสตร์จึงได้คิดค้นพัฒนายาฝังคุมกำเนิดขึ้น ลองมาทำความรู้จักกับยาฝังคุมกำเนิดกันหน่อยนะครับ
ยาฝังคุมกำเนิด ได้มีการผลิตและใช้ในครั้งแรกในปี 2526 โดยเป็นชนิด 6 หลอดที่มีชื่อทางการค้าว่า
Norplant มีลักษณะเป็นหลอดแคบซูลนิ่มที่ทำจากซิลิโคน (Sofe capsule) ขนาดยาว 34 มม.และเส้นผ่าศูนต์กลาง 2.4 มม. แต่ละหลอดประกอบด้วยตัวยา Levonorgestrel 36 มก. มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดภายหลังฝังภายใน 24 ชม.มีกลไกการออกฤทธิ์โดยการเพิ่มความเหนียวข้นของมูกบริเวณปากมดลูก เพื่อให้เชื้ออสุจิผ่านเข้าไปได้ยาก มีระยะเวลาคุมกำเนิดได้นาน 5 ปี แต่มีข้อเสียคือ ต้องผ่าตัดเพื่อฝัง และการเอาออกต้องใช้เวลานาน นอกจากนี้พบว่าจะได้ผลดีเฉพาะใน 4 ปีแรกที่ฝัง และในปีที่ 5 มีอัตราการตั้งครรภ์ได้ร้อยละ 1
ตัวอย่างยาฝังคุมกำเนิดแบบ Norplant
ตัวอย่างยาฝังคุมกำเนิดแบบ Implanon
ปัจจุบันได้มีการพัฒนายาฝังคุมกำเนิดชนิดใหม่ ชนิดแท่งเดียว ในชื่อการค้าว่า Implanon ซึ่งมีขนาดยาว 40 มม.เส้นผ่าศูนต์กลาง 2 มม. ประกอบด้วยตัวยา Etonogestrel (ENG) 68 มก. จึงทำให้ฝังและเอาออกได้ง่ายกว่าแบบเดิม มีกลไกการออกฤทธิ์โดยไปยับยั้งการหลั่งฮอรโมน LH ( Luteinizing hormone) เพื่อมิให้มีการตกไข่ และทำให้มูกบริเวณปากมดลูกเหนียวข้นขึ้น และเยื่อบุมดลูกบาง ไม่เหมาะกับการฝังตัว
ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดของยาฝังคุมกำเนิด Implanon พบว่ามีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดได้นาน 3 ปี ไม่พบอัตราการตั้งครรภ์ในระหว่างที่ฝังยานี้ นอกจากนี้ทารกที่รับประทานน้ำนมจากมารดาที่คุมกำเนิดด้วยการฝังยาคุมกำเนิด Implanon ระดับยาที่ผ่านทางน้ำนม ไม่พบมีผลอันตรายต่อทารก
ผลข้างเคียงที่พบได้จากยาฝังคุมกำเนิด Implanon พบได้คล้ายคลึงกับยาฝังคุมกำเนิด Norplant ดังนี้
- ภาวะรอบเดือนหรือ เลือดออกกระปริดกระปอย (infrequent bleeding) พบได้ร้อยละ 15 ในปีแรก และร้อยละ 8 ในปีที่ 2-4
- ภาวะรอบเดือนหรือเลือดออกนานกว่าปกติ ( frequent bleeding) พบได้นาน 27.6 วันในปีแรก และนาน 18.4 ในปีที่ 2-4
- ภาวะไม่มีรอบเดือน (Amenorrhea) พบได้ร้อยละ 10.3 ในปี 1-2 และร้อยละ 6.4 ในปีที่ 3-4
อาการข้างเคียงอื่นๆ ของยาฝังคุมกำเนิด Implanon เปรียบเทียบกับ Norplant
- ปวดศีรษะ พบได้ร้อยละ 21.2 สำหรับ Implanon และ ร้อยละ 28.3 สำหรับ Norplant
- ปัญหาสิว พบได้ร้อยละ 18.5 สำหรับ Implanon และ ร้อยละ 22.3 สำหรับ Norplant
- ปวดท้องน้อย พบได้ร้อยละ 11.4 สำหรับ Implanon และ ร้อยละ 9.8 สำหรับ Norplant
- ผมร่วง พบได้น้อยกว่าร้อยละ 10 และไม่แตกต่างกันทั้งแบบ Implanon และ Norplant
- ปวดบริเวณที่ฝัง พบได้น้อยกว่าร้อยละ 10 และไม่แตกต่างกันทั้งแบบ Implanon และ Norplant
- หย่อนสมรรภภาพทางเพศ พบได้น้อยกว่าร้อยละ 10 และไม่แตกต่างกันทั้งแบบ Implanon และ Norplant
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การคุมกำเนิดด้วยยาฝังคุมกำเนิด ในความเห็นของผู้เขียนแม้จะมีประสิทธิภาพมากกว่าแบบยาคุมรับประทาน หรือยาฉีดคุมกำเนิด เพราะมีฤทธิ์ได้แน่นอนและยาวนานกว่า แต่ก็ไม่สะดวกในการต้องฝังและเอาออก ทำให้เจ็บตัว และก็มีผลข้างเคียงดังกล่าว ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจ เลือกคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ ควรจะปรึกษาแพทย์หรือบุคคลากรที่เกี่ยวข้อก่อนให้เข้าใจและยอมรับผลข้างเคียงดังกล่าว
เรียบเรียงและค้นคว้าใหม่ โดยนพ.จรัสพล รินทระ …….ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด…..6 September 2005
เอกสารอ้างอิง: วารสารคลินิก ฉบับเดือนธันวาคม 2545,คอลัมน์ ‘ เวชภัณฑ์น่ารู้’