MEMBER
บทความ
- ความงามทั่วไป
- ดูแลผิวพรรณ
- ผิวหนัง
- ฝ้า-กระ
- ลดน้ำหนัก
- ศัลยกรรมความงาม
- สุขภาพ-งานวิจัย
- หมวดสิว
- เก็บมาอยากให้อ่านกัน
- เวชศาสตร์ความงาม
- เวชศาสตร์ชะลอวัย
- เส้นผม

กวาวเครือ สมุนไพรไทย สรรพคุณและโทษต่อร่างกาย
ปัจจุบันคนไทยได้เริ่มให้ความสนใจเกี่ยวกับสุขภาพตนเองมากขึ้น โดยมีวิธีการจัดการกับปัญหาเจ็บป่วยด้วยการกลับคืนสู่ธรรมชาติมากขึ้น โดยเกิดกระแสความนิยมใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากที่สุดและผ่านขบวนการแปรรูปให้น้อยที่สุด ใช้สารเคมีให้น้อยลง ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากสารธรรมชาติ (Natural extracts) ดังกล่าวจำต้องหันกลับไปศึกษาการใช้สมุนไพรร่วมด้วย
กวาวเครือ เป็นสมุนไพรที่เป็นที่รู้จักและมีการใช้กันมานานแล้วในฐานะของสมุนไพรอายุวัฒนะ ในตำรับยาโบราณที่มีสรรพคุณบำรุงร่างกาย ทำให้ ผิวพรรณมีน้ำมีนวลและผิวหนังเต่งตึง ซึ่งความสวยงามที่ได้เป็นผลพลอยได้เท่านั้น และได้เป็นที่ฮือฮากันอย่างมาก เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ลองมาทำความรู้จักกับสมุนไพร’กวาวเครือ และพืชอื่นในสกุลใกล้เคียง’
กวาวเครือ เป็นพืชในวงศ์ Leguminosae-Papilionoideae tribe Phaseoleae โดยจัดอยู่ในวาไรตี้หนึ่งของ P.candollei Grah(เครือเขาปู้) เป็นพืชไม้เลื้อย ผลัดใบ ลำต้นเกลี้ยง ยาวประมาณ 5 เมตร หัวใต้ดินมีขนาดใหญ่ ค่อนข้างกลมและคอดยาวเป็นตอนๆ ต่อเนื่องกัน เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบตามป่าเบญจพรรณซึ่งเป็นป่าผลัดใบ และป่าเต็งรัง ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกของประเทศไทย กราวเครือกระจายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีความหลากหลายทางพันธุกรรมค่อนข้างสูง ทำให้ลักษณะใบแตกต่างกันหลายๆแบบ ในแต่ละพื้นที่ แบ่งได้เป็น 4 ชนิด คือ กวาวเครือขาว กวาวเครือแดง กวาวเครือดำ และกราวเครือมอ โดยเรียงลำดับ จากความแรงอ่อนสุดไปมากสุด
สำหรับการที่ยาสมุนไพรจากหัวกวาวเครือ มีคุณสมบัติทางยา อาจเนื่องจากว่า ได้มีการค้นพบว่ามีสารเคมีที่สามารถออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง (Estrogen) หลายชนิด คือ Miroestrol,puerarin,mirificin,diadzin,Beta-sitosterol,coumestrol,genistein และสารเคมีอื่นๆ ที่ไม่มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนดังนั้นในทัศนะของแพทย์พื้นบ้านทางเหนือ จึงเชื่อว่าถ้ารับประทานเข้าไปในขนาดและวิธีที่เหมาะสม จะมีประโยชน์โดยสรุปดังนี้
- เป็นยาอายุวัฒนะใช้ได้ทั้งเพศชายและหญิงในผู้สูงอายุ ทำให้เจริญอาหาร นอนหลับได้ดี
- ทำให้ผิวหนังที่เหี่ยวย่นกลับเต่งตึงมีน้ำมีนวล ลดรอยย่น ตีนกา
- ช่วยเสริมให้หน้าอกโตได้ ทำให้คัดหน้าอก
- ช่วยให้ประจำเดือนกลับมามีได้ใหม่ ในผู้หญิงวัยใกล้หมดประจำเดือน หรือวัยหมดประจำเดือน
- ช่วยให้ช่องคลอดไม่แห้ง มีน้ำหล่อลื่น
- เสริมพละกำลัง ไม่อ่อนเพลียง่าย
- หูตาที่ฝ้าฟางกลับดีขึ้น ทำให้อ่านหนังสือได้ชัดขึ้น
- ความจำดีขึ้น
- ลดกำหนัดได้
- ช่วยให้เส้นผมที่หงอกกลับดำ และทำให้เพิ่มเส้นผมได้
แต่จากการรวบรวมข้อมูลการรับประทานกวาวเครือ ของยุทธนา สมิตะสิริ(2541) พบว่าเมื่อหยุดใช้กวาวเครือ อาการต่างๆ จะกลับมาเหมือนเดิม
ตามรายงานของวารสารสยามสมาคม(Kerr,1932) และตำรายาหัวกวาวเครือ (ของหลวงอนุสารสุนทร,2474) ได้กล่าวเน้นให้ความสำคัญในการบริโภคคือ ต้องรู้จักต้นกวาวเครืออย่างดี เพราะถ้าไม่รู้จักดีพอ การเอาเถา ต้น หัว ใบ ของต้นไม้ชนิดอื่นที่คล้ายแล้วไปทำเป็นยาอายุวัฒนะแล้ว นอกจากจะไม่ได้ ประโยชน์แล้ว อาจทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หรือการรับประทานหัวกวาวเครือเกินขนาดก็เกิดโทษได้ โดยพบว่าในกวาวเครือ สารพิษที่พบก็คือ Butanin แล้วยังพบว่าในกราวเครือ อาจมีส่วนผสมของโลหะปรอท 4.0 มก.ต่อกรัม ,Litium 94.0 มก.ต่อกรัม,Sodium 10.0 มก.ต่อกรัม,Calcium 29.0 มก.ต่อกรัม ดังนั้นในทัศนะของแพทย์พื้นบ้านภาคเหนือ จึงต้องนำสมุนไพรอื่นร่วมในการทำยา เรียก ‘ ตัวคุม’
พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ นายกสมาคมแพทย์แผนไทย ได้กล่าวสรุปว่า ไม่ควรรับประทานมากหรือต่อเนื่องนานเกินไป เพราะอาจมีอาการเต้านมโต เป็นก้อน ถึงก่อให้เกิดมะเร็งในผู้หญิงได้ หรือทำให้เยื่อหุ้มอัณฑะหนา ถึงก่อมะเร็งในผู้ชาย นอกจากนี้ยังได้สรุปปัญหาการบริโภคในระดับปัจเจกชนมีดังนี้
- บริโภคกวาวเครือผิดประเภท เช่น ใช้พืชหัวอื่นที่คล้ายกราวเครือ ทำให้มีพิษต่อร่างกายถึงชีวิต
- บริโภคกวาวเครือผิดขนาด หลายระยะเวลา มากเกินไป หรือ นานเกินไป
- บริโภคกวาวเครือผิดวิธี ซึ่งตำรายาระบุไว้หลายวิธี ซึ่งมีผลต่อความเข้มข้นของสารออกฤทธิ์
- บริโภคกวาวเครือผิดวัตถุประสงค์ เดิมมิได้รับประทานเพื่อเป็นยาอายุวัฒนะ แต่ต้องการผลข้างเคียงอย่างอื่น
ปัจจุบัน ได้มีนักวิจัยหลายๆ กลุ่ม พยายามที่จะพัฒนานำสารบางอย่างที่ออกฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเพศหญิงจากหัวกวาวเครือมาใช้ในแวดวง ความสวยงาม แต่ก็ยังไม่เป็นที่สรุปและยอมรับในมาตรการความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคอย่างเพียงพอ ได้มีการประชุมเชิงสัมนาเรื่องกวาวเครือ กับผลงานการวิจัย ได้ข้อสรุปเบื้องต้นเพียงว่า ผลิตภัณฑ์จากกวาวเครือมีความเป็นฮอร์โมนสูง จึงเหมาะเพียงสำหรับผู้หญิงวัยทอง เพราะจะไปช่วยเพิ่มความสมดุลย์ของฮอร์โมนเพศในร่างกาย แต่อย่างไร ก่อนหรือหลังใช้ ต้องพิจารณาผลการทดสอบความเป็นพิษก่อนเสมอ
เรียบเรียงและค้นคว้าใหม่โดย นพ.จรัสพล รินทระ …ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด…4 August,2005
เอกสารอ้างอิง; คู่มือการตรวจสอบ กวาวเครือ และทองเครือ ของฝ่ายพันธุ์พืช กองควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการการเกษตร
เอกสารอ้างอิง; เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ 2541 ปัญหาการใช้กวาวเครือในประเทศไทย,เอกสารประกอบการสัมมนา ของสถาบันแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์